ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Login
ย้อนกลับ

การศึกษา แนะนำหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน



หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

แนะนำหลักสูตร

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยฯ ม. ขอนแก่น ได้เริ่มการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ซึ่งนับเป็นระยะเวลา 40 ปี มาแล้ว หลักสูตรการฝึกอบรมได้มีการประเมินและปรับปรุง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในปัจจุบันหลักสูตรใหม่นี้มุ่งเน้นให้แพทย์ผู้รับการฝึกอบรม ฝึกอบรมเป็นกุมารแพทย์ที่สามารถให้การดูแลรักษาป้องกันและส่งเสริมสุขภาพของเด็กในชุมชนได้อย่างเป็นองค์รวมมีความสามารถในการทำงานในชุมชน เป็นกุมารแพทย์ที่มีความใฝ่รู้ และมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

                ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยฯ ม. ขอนแก่น ยังเป็นสถานฝึกอบรมกุมารแพทย์ที่ดีที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีผู้ป่วยหลากหลายโรค หลากหลายเชื้อชาติ มีทั้งโรคที่พบบ่อย โรคในท้องถิ่น รวมถึงโรคหายากต่างๆ แพทย์ที่มาฝึกอบรมจะได้รับรู้ประสบการณ์ตั้งแต่การดูแลทารกแรกเกิด เด็กทั่วไป เด็กวัยรุ่น และตั้งแต่แบบปฐมภูมิไปจนถึงตติยภูมิตามสาขาวิชาต่างๆ ที่กุมารแพทย์ควรทราบ

ลักษณะการฝึกอบรมเป็นการศึกษาที่เน้นการเรียนด้วยตนเอง ฝึกปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยโดยมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำ กำกับและดูแล พร้อมแหล่งสนับสนุนนทางวิชาที่เพียบพร้อม มีตำราและวารสารมากมายจากห้องสมุด online สามารถสืบค้นได้ตลอดเวลา มีเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยอย่างพอเพียง ผู้ที่เข้าอบรมยังสามารถเลือกวิชาเลือกที่ไปศึกษาเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ หรือ จะเลือกไปดูงานโรงพยาบาลชุมชนในระหว่างการฝึกอบรม

ชื่อหลักสูตร

ภาษาไทย

หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขากุมารเวชศาสตร์

ภาษาอังกฤษ

Residency Training in Pediatrics

ชื่อวุฒิบัตร

ภาษาไทย

วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขากุมารเวชศาสตร์ (วว. สาขากุมารเวชศาสตร์)

ภาษาอังกฤษ

Diploma of the Thai Board of Pediatrics

(Dip., Thai board of Pediatrics)

ระยะเวลาการฝึกอบรม

แพทย์ประจำบ้าน

ใช้เวลา 3 ปี

แพทย์ใช้ทุน

ใช้เวลา 36 เดือน หลังจากผ่านโครงการเพิ่มพูนทักษะ 1 ปีแล้ว

 ระดับการฝึกอบรม

ระดับชั้นปีที่ 1 และ ระดับชั้นปีที่ 2

เป็นการฝึกอบรมที่ครอบคลุมวิชากุมารเวชศาสตร์ทั่วไป โดยจัดให้แพทย์ประจำบ้านมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยใน หอผู้ป่วยนอกและหอผู้ป่วยฉุกเฉินและเฉียบพลัน หอผู้ป่วยทารกแรกเกิด หอผู้ป่วยเวชบำบัดวิกฤต ฝึกปฏิบัติงานด้านกุมารเวชศาสตร์สังคม เวชศาสตร์สังคม เวชศาสตร์วัยรุ่น พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก และวิชาเลือก

ระดับชั้นปีที่ 3

จัดให้แพทย์ประจำบ้านทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมในการดูแลรักษาผู้ป่วย กำกับดูแลแพทย์ประจำบ้านรุ่นน้องและนักศึกษาแพทย์ และมีส่วนร่วมในการวางแผนจัดการเรียนการสอน ทั้งในส่วนที่เป็นการดูแลผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก เป็นเวลาอย่างน้อย 24 สัปดาห์หรือ 6 เดือน สำหรับช่วงเวลาที่เหลือเป็นวิชาเลือกในหรือนอกสถาบัน และฝึกฝนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

การฝึกอบรมประกอบด้วย

  • การปฏิบัติงานด้านกุมารเวชศาสตร์ทั่วไป โดยดูแลรับผิดชอบผู้ป่วยในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม หอผู้ป่วยหนักทั้ง PICU และหอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด (NICU)  หอผู้ป่วยทารกแรกเกิดป่วย และทารกแรกเกิดปกติ ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ห้องตรวจผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้องตรวจสุขภาพเด็ก ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ประจำบ้านอาวุโส และ/หรือ อาจารย์ของภาควิชาฯ
  • การปฏิบัติงานเป็นแพทย์ประจำบ้านตามอนุสาขาวิชาต่างๆ ของภาควิชา
  • มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ที่ภาควิชา และคณะเป็นผู้จัด ทั้งเป็นผู้อภิปราย หรือผู้เข้าฟัง และเป็นผู้ดำเนินการเพื่อฝึกทำการสอน และถ่ายทอดความรู้แก่แพทย์และนักศึกษาแพทย์ด้วย
  • ฝึกอบรมการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการตรวจวินิจฉัย การรักษาภาวะและโรคต่างๆ ทางกุมารเวชศาสตร์ โดยวิธีการอันทันสมัย
  • ฝึกอบรมการหาข้อมูลทางการแพทย์ Evidence Base Medline และ ทำการวิจัยขั้นพื้นฐานในสาขาวิชากุมารเวชศาสตร์
  • ฝึกการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง (continuity clinic) โดยมีคนไข้ในความดูแลด้วยตนเองตลอดระยะเวลา 3 ปี ของการฝึกอบรม เพื่อให้คำแนะนำในการเลี้ยงดู การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย
  • ทำแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) เป็นบันทึกประวัติของแพทย์ประจำบ้านตั้งแต่เข้ารับการฝึกอบรมจนจบหลักสูตร ประกอบด้วย บันทึกประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคต่างๆ บันทึกกิจกรรมทางวิชาการ คะแนนที่ได้จากการประเมินผลและผลงานวิจัย เพื่อประโยชน์ในการติดตามผล การฝึกอบรมของแพทย์ประจำบ้านแต่ละคน
  • การประเมินผล ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้การฝึกอบรมบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม

 สวัสดิการ

  • โรงพยาบาลได้จัดสรรที่พักให้แก่ พจบ และ พชท ในระหว่างฝึกอบรม กรณีไม่สามารถพักในที่ รพ. จัดสรรให้ สามารถเบิกค่าเช่าที่พักได้ 2,500 บาท/เดือน
  • พจบ และ พชท ปีที่ 1 จะได้รับเครื่องแบบคนละ 3 ชุด ส่วนปีที่ 2 และ 3 จะได้รับคนละ 1 ชุด
  •         คณะแพทยฯ มีงบสนับสนุน

    1.        การไปประชุมวิชาการ                                10,000 บาท/คน/ปี

    2.      การศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศ              40,000 บาท/คน/ปี

    3.      งบสนับสนุนการทำวิจัย                           40,000 บาท/เรื่อง

การสมัครฝึกอบรมสำหรับแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ใช้ทุน

พทย์ใช้ทุน

7-8 ตำแหน่ง

 

เปิดรับสมัครช่วง กรกฎาคม

สัมภาษณ์ช่วง สิงหาคม

แพทย์ประจำบ้าน

3-4 ตำแหน่ง

 

เปิดรับสมัครช่วง ตุลาคม

สัมภาษณ์ช่วง พฤศจิกายน


สนใจดูข้อมูล การรับสมัคร ติดต่อ

1.  เว็บไซด์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น https://pedmd.kku.ac.th/home/

2.  Facebook  https://bit.ly/3iYFNdR 

3.  โทร 043-363012 ถึง 3

2021/09/10 - Chanyut Suphakunpinyo